วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
ข่าวประชาสัมพันธ์งานบุญ
วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553
กิจกรรมของวัด
ประวัติเจ้าอาวาส

ประวัติ
เจ้าอาวาสวัดควนอุโบสถ
*************
นาม พระครูโสภณธรรมประดิษฐ์ อายุ ๓๕ ปี พรรษา ๑๔ วิทยฐานะ นธ.เอก
ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดควนอุโบสถ หมู่ที่ ๓ ตำบลปริก อำเภอทุ่งใหญ่
จังหวัดนครศรีธรรมราช
สถานะเดิม ชื่อ วีระพัฒน์ นามสกุล จันทร์ศรีนาค เกิดวันที่ ๑๔ เดือนสิงหาคม
พุทธศักราช ๒๕๑๗ ณ บ้านเลขที่ ๕๑ หมู่ที่ ๑๐ ตำบลสินปุน อำเภอเขาพนม
จังหวัดกระบี่
อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๗ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๔๐
โดยมี พระครูประกิตสุตคุณ วัดท่ายาง เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูปทุมสรคุณ วัดควนสระบัว เป็นพระกรรมวาจาจารย์
พระครูจิรธรรมานุยุต วัดภูเขาหลัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๓ จบนักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ.๒๕๔๙ จบปริญญาตรี คณะพุทธศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ปัจจุบัน กำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
คณะครุศาสตร์ สาขาพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน
งานปกครอง
พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นเลขานุการเจ้าคณะตำบลกุแหระ อำเภอทุ่งใหญ่
จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดควนอุโบสถ
พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นเจ้าอาวาสวัดควนอุโบสถ หมู่ที่ ๓ ตำบลปริก อำเภอทุ่งใหญ่
จังหวัดนครศรีธรรมราช
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช
งานการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๕ เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง แผนกนักธรรม
พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นครูสอนวิชาภาษาบาลี โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดขนาน
พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์
พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียน ประจำโรงเรียนวัดบ้านควนลำภู
ประวัติวัด
วัดควนอุโบสถ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลปริก อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับอนุญาตจากทางราชการตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๐ วัดควนอุโบสถ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๓ ตำบลปริก อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ตั้งวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๕๐ มีเนื้อที่ทั้งหมดตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) จำนวน ๔๓ไร่ ๒ งาน ๗๗ ตารางวา ทิศเหนือ จด สถานีอนามัยบ้านหัวควน ทิศใต้ จด สวนยางพาราของนาง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ พระครูอินทวัณโณภาส (กลิ่น อินฺทวณฺโณ) ได้ร่วมกับพุทธบริษัทได้เข้ามาพัฒนาบูรณะวัดแห่งนี้ใหม่ และได้ตั้งชื่อว่า วัดควนอุโบสถ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๑๐ เดือน มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ พระครูอินทวัณโณภาส ได้ดำเนินงานสาธารณูปการไว้หลายอย่าง เช่น ศาลาการเปรียญ หอฉัน กุฎิ ห้องน้ำห้องส้วม เมรุเผาศพ และได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ แต่ยังไม่แล้วเสร็จท่านก็มามรณภาพเสียก่อน เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๒ ด้วยโรคชราภาพ ต่อมาพระอธิการวีระพัฒน์ ฐิตสาโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ก็ได้ดำเนินการสร้างอุโบสถต่อจนแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑
ตำนานตามความบอกเล่าของชาวบ้าน เนินดินสูงที่ตั้งอุโบสถในปัจจุบัน กล่าวกันว่าเป็นวังหลวงที่ประทับ ของพระสุธนและนางมโนราห์ โดยสี่มุมเมืองวังหลวงมีทรัพย์สมบัติ แก้วแหวนเงินทองและของมีค่าอื่นๆ เป็นจำนวนมาก บึงน้ำใหญ่ ซึ่งอยู่ใกล้วัดทางทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) (ปัจจุบันเป็นหนองน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า “หนองเต่าดำ” )ซึ่งเป็นที่อาศัยของพญานาค ที่พรานบุญไปขอบ่วงบาศของพญานาคเพื่อเอาไปจับนางกินรี(นางมโนราห์) อาศรมฤาษี ตั้งอยู่ทางทิศหรดี(ตะวันตกเฉียงใต้) ซึ่งเป็นสถานที่เคยอยู่ของฤาษีผู้ประพฤติพรตบำเพ็ญธรรม (ปัจจุบัน เรียกว่า วัดสระนางมโนราห์) ซึ่งอยู่ใกล้กับสระน้ำใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหล่านางกินรีบินมาจากภูเขาไกรลาส (ปัจจุบันเรียกภูเขานางนร หมายถึงนางกินรี) มาเล่นน้ำในสระอยู่เป็นประจำ (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกสระน้ำนี้ว่า สระนางมโนราห์) ถัดจากสระน้ำใหญ่มาทางทิศเหนือ ชาวบ้านเรียกว่า ช่องสะไบหลุ่ย (ซึ่งเป็นผ้าสะไบที่นางมโนราห์หลุดหลุ่ยออกจากกายตอนที่พรานบุญจับมัดแล้วลากดึงมา) ถัดจากช่องสะไบหลุ่ย เป็นบ้านทุ่งโถกนุ้ย (โถกนุ้ย หมายถึง พรานบุญอดใจไม่ไหวที่เห็นนางมโนราห์มีความงดงาม จึงเอามือไปจับเนื้อต้องตัวของนางนิดหน่อย เรียกว่า โถกนุ้ย ) ถัดจากบ้านทุ่งถูกนุ้ย มาถึงบ้านทุ่งโถกใหญ่ หมายถึงพรานบุญอดใจไม่ได้แล้ว จึงจับเนื้อต้องตัวนางมโนราห์ตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างมากกว่าเก่า จึงเรียกว่าทุ่งโถกใหญ่ ถัดจากทุ่งโถก ใหญ่มาถึงบ้านทุ่งสง (ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ในความดูแลของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช) ซึ่งอยู่ทางทิศบูรพา(ตะวันออก) ของวัดควนอุโบสถ ซึ่งเป็นสถานที่พรานบุญพานางมโนราห์มาถวายต่อพระสุธนหรือพระศรีสุธน พอเห็นนางมโนราห์ก็เกิดความพึงพอใจในความงามจึงได้พานางมโนราห์มาเสพสุขในวังที่ประทับ (หมายถึงวัดควนอุโบสถ)
ตำนานนี้เกิดจากการบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่สมัยก่อนเล่าต่อๆกันมา และได้มีพระภิกษุชาวล้านนารูปหนึ่ง ท่านได้เขียนประวัติเอาไว้ ผิดพลาดประการใดขอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายช่วยพิจารณาต่อไป
ในแต่ละพรรษาวัดควนอุโบสถมีพระภิกษุสามเณรมาโดยตลอดมิได้ขาด ๑๕ รูปขึ้นไปทุกปี โดยมีพระครูอินทวัณโณภาส เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และพระครูโสภณธรรมประดิษฐ์ เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ จนถึงปัจจุบัน ทางวัดมีการส่งเสริมพระภิกษุสามเณรที่ด้อยโอกาสให้ศึกษาเล่าเรียนภาคปริยัติ ภาคปฏิบัติ และการศึกษาทางโลก ปัจจุบันมีพระภิกษุสามเณรเรียนอยู่ในระดับมัธยมศึกษา จำนวน ๙ รูป ระดับบัณฑิต จำนวน ๕ รูป ระดับมหาบัณฑิต จำนวน ๓ รูป